ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมฯ เข้าร่วมโครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ ของ NASA ด้วยการสนับสนุนจาก NARIT และ GISTDA โดยเข้าชมห้องปฏิบัติการทางด้านเคมีวิเคราะห์ลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ดัดแปลงเครื่องบินพาณิชย์ DC8 และ G3 มาปฏิบัติภาระกิจที่สนามบินอู่ตะเภา
ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า "ข้อจำกัดของนักวิชาการด้านมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่คือการทำวิจัยเกี่ยวกับมลพิษในชั้นบรรยากาศที่ระดับพื้นผิวโลกเท่านั้น เครื่องมือที่ใช้เก็บตัวอย่างส่วนมากเป็น High Volume Air Sampler หรือไม่ก็ Air Passive Sampler ซึ่งใช้ได้ก็แค่ระดับพื้นผิวเท่านั้น งานวิจัยที่ผมเคยทำเกี่ยวกับ vertical profile ก็คือใช้ตึกที่มีความต่างระดับในการเก็บตัวอย่างฝุ่นซึ่งก็มีข้อจำกัดตรงที่สูงสุดที่จะเก็บได้ก็แค่ตรงความสูงของตัวตึก ซึ่งเต็มที่ก็ระดับร้อยเมตรเท่านั้น
คำถามคือแล้วการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในชั้นบรรยากาศระดับหลักหลายกิโลเมตรขึ้นไป จะทราบได้อย่างไร? หลายคนอาจจะตอบว่าก็มีดาวเทียมอยู่แล้วซึ่งปัจจุบันก็มีดาวเทียมหลายดวงที่ทาง NASA ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ เช่น GEMS หรือ Geostationary Environment Monitoring Spectrometer เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดที่ติดตั้งบนดาวเทียม KOMPSAT-2B ซึ่งเป็นดาวเทียมสัญชาติเกาหลี พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือบันทึก วิเคราะห์ และติดตามปริมาณก๊าซที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกของเราได้อย่างต่อเนื่องและรายละเอียดข้อมูลที่ดีขึ้น อาทิ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มี TROPOMI, MAIA, GOSAT-GW ซึ่งเป็นดาวเทียมที่สามารถใช้กับงานวิจัยคุณภาพอากาศ
แต่ปัญหาคือค่ามลพิษทางอากาศที่วัดได้จากดาวเทียมย่อมแตกต่างจากการนำอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่เรียกว่า Gold Standard มาวัดจริงตรงระดับความสูงนั้น ๆ แน่นอนค่าที่วัดได้จากดาวเทียมย่อมมีความคลาดเคลื่อนด้วยข้อจำกัดของสภาพอากาศเช่นมีก้อนเมฆมาบดบังทำให้ดาวเทียมไม่สามารถตรวจจับการดูดกลืนแสงของสารเคมีในชั้นบรรยากาศนั้นได้ เลยเป็นที่มาว่าทำไมต้องมีห้อง LAB ลอยฟ้าที่บรรทุกอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ระดับ Advance มาก ๆ เช่น PTR-TOF-MS, TOGA, CIMS, HR-TOF-AMS, CHARON ติดไปกับเครื่องบินพร้อมกับนักวิจัยอีกหลายสิบชีวิตที่ต้องทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์สารเคมีไปพร้อมกัน"
ภาพกิจกรรม